Tuesday 29 May 2012

anemia...เรียนรู้กับภาวะโลหิตจาง


เคยมั้ย??  อ่อนเพลียจังเลย
เคยมั้ย?? เหมือนจะเป็นลม ทำไมมันหวิวๆจัง
เคยมั้ย?? เอ๋...ทำไมเหมือนใจสั่น
เคยมั้ย?? จู่ๆก็มีคนทัก นี่!!น้องคะ ทำไมดูตัวซีดๆจังอ่ะ
ถ้าคุณมีอาการดังกล่าวมานั้นไม่ต้องสงสัยเลยคะ คุณอาจจะกำลังเข้าสู่ภาวะ...ภาวะอะไรอ่ะ น่ากลัวมั้ย อาการที่ว่ามานี้เป็นข้อชี้บ่งว่าคุณกำลังเป็น ANEMIA หรือ ภาวะโลหิตจางนั่นเอง






ANEMIA // ภาวะโลหิตจาง
(เน้นว่าภาวะนะคะ จำไว้คะ โลหิตจางไม่ใช่โรคภัยแต่เป็นแค่ภาวะหนึ่งเท่านั้นเอง)
คือภาวะที่มีสารฮีโมโกลบินต่ำกว่าปกติ หรือการที่คนเรามีเม็ดเลือดแดงปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์ ทำให้มีการลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆของร่างกายไม่เพียงพอ
ผลจากการตรวจเลือดนั้นจะหมายถึง
ค่าฮีมาโตคริต (Hct) คือ   ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ในผู้ชายต่ำกว่า 39 %
                                    ความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง ในผู้หญิงต่ำกว่า 36 %
เม็ดเลือดแดง //Red Blood Cell
เม็ดเลือดแดงที่อยู่ในกระแสเลือดของคนเรานั้น จะมีสารโปรตีนที่เรียกว่า ฮีโมโกลบิน ทำหน้าที่เป็นตัวจับออกซิเจน ที่เราหายใจเข้าไปทางปอด และจะนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆของร่างกาย
หากเมื่อเราเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงในเลือดต่ำแล้วนั้นจะก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้ง่าย หน้าตาซีด ใจสั่นง่าย และเป็นลม ภาวะโลหิตจางส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง นอกจากทำให้อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ทำงานได้ไม่เต็มที่ นอกจากนี้อาจทำให้ร่างกายอ่อนแอ เฉื่อยชา ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อง่าย ถ้าเกิดการเจ็บป่วยหรือมีบาดแผล ก็มักจะฟื้นหายได้ช้า

โลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากขึ้น
·       การที่เม็ดเลือดแดงแตกหรือถูกทำลายไปเร็วกว่าปกติ เช่น โรคที่ร่างกายต่อต้านเม็ดเลือดแดงของตนเอง โรคธาลัสซีเมีย เป็นต้น
·       ภาวะขาดอาหารหรือโปรตีน ซึ่งเป็นองค์ประกอบร่วมกับธาตุเหล็กในการสร้างเม็ดเลือดแดง
·       โลหิตจางจากภาวะไขกระดูกฝ่อหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว ผู้ป่วยมักมีอาการซีดร่วมกับไข้ มีจุดแดงจ้ำเขียวตามผิวหนัง มีเลือดออกตามที่ต่างๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
โลหิตจางจากการสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง
·       การสร้างเม็ดเลือดแดงน้อยลง อาจจะเกิดจากการขาดสารอาหารที่จำเป็นในการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่น ขาดธาตุเหล็ก โฟเลต วิตามินบี 12
โลหิตจางจากการสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด
·       ซีดจากการสูญเสียเลือด โรคที่ทำให้ถ่ายมีเลือดปนที่พบบ่อยได้แก่ โรคกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคหลอดเลือดโป่งพอง โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
·       การสูญเสียเม็ดเลือดแดงจากกระแสเลือด ได้แก่ การเสียเลือดทั้งชนิดเฉียบพลันและเรื้อรัง
·       สาเหตุที่พบบ่อยอีกอย่างคือ การรับประทานยาแก้ปวดแก้เมื่อยเป็นประจำ แล้วยาระคายกระเพาะอาหารทำให้อักเสบ มีแผล เกิดเลือดออกได้
ซีดจากโรคเรื้อรัง
·       ภาวะโลหิตจางอาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ตับอักเสบ และวัณโรค ไตวาย โรคตับ ข้ออักเสบ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคไขกระดูกเสื่อม เป็นต้น เกิดจากการที่ร่างกายสร้างเม็ดเลือดได้น้อยกว่าปกติ
ซีดจากการขาดสารอาหาร
·       ในบางคนอาจรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ ซึ่งอาจเกิดจากการที่เบื่ออาหาร มีโรคประจำตัวบ บางคนก็เลือกรับประทานอาหาร ลดน้ำหนัก ก็ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางได้

การรักษาหรือวิธีป้องกันคือ
-          ให้เลือดไปทดแทน เพื่อให้ปริมาณเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้น
-           รับประทานอาหารที่ช่วยเสริมสร้างการสร้างเม็ดเลือดแดงคือ ธาตุเหล็ก ซึ่งมีใน ไข่แดง,เครื่องในสัตว์
เต้าหู้,ผักใบเขียวสด
-           รับประทานวิตามินที่สร้างเม็ดเลือดแดงคือ Folic acid,ยาบำรุงเลือด(FF)
-          ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
-          นอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ
-          ไม่เครียด ผ่อนคลาย
*** หวังว่าบทความนี้ คงเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย สำหรับทุกคนนะค๊า
**อยากเห็นคนไทย...มีสุขภาพดี ^0^

Monday 28 May 2012

Insomnia...ไม่(ยอม)หลับกับผู้หญิง

          การนอน สำคัญนะ สำคัญมากด้วย บางคนหวงการนอน (เหมือนเจ้าของบทความเลย) มากกกกกกก ไม่กินก็ได้ขอแค่ได้นอนก็เพียงพอแล้ว  จะว่าไปแล้วอาชีพพยาบาลอย่างเจ้าของบทความนั้น ก็เป็นอาชีพหนึ่งที่เจอโรคInsomniaนี้คุกคามอย่างนัก ยิ่งเฉพาะเวลาลงเวรดึกมาเเล้วละก็ไม่ต้องพูดถึงเลยทีเดียว ตาค้างงงงง  เคยถึงขั้นพึ่งยานอนหลับก็มี (เรียนมากรุ้มาก จัดการเองเลย เหอๆ)


 Insomnia หรือ โรคนอนไม่หลับนั้น 
     คือภาวะการขาดแคลนการนอน มักเกิดขึ้นในผู้หญิงและผู้ที่อยู่โดดเดี่ยว

ระดับความรุนแรงของอาการนอนไม่หลับแบ่งได้ดังนี้


 *  Transient  Insomnia 
         อาการนอนไม่หลับชั่วคราว  จะเป็นเพียงแค่คืนหรือ 2 คืน  จากนั้นอาการนอนไม่หลับจะหายไป  อาการที่ว่าเกิดขึ้นได้ในทุกบุคคล  ในกรณีที่มีเรื่องกังวลใจ  ตื่นเต้นหรือสิ่งเร้าที่เกิดขึ้นชั่วขณะ  ไม่ร้ายแรงถึงขั้นต้องรักษา

  *  Short  Term  Insomnia  ระยะเวลาของการนอนไม่หลับจะไม่เรื้อรังเกิน 3 สัปดาห์  อาจมีพื้นฐานมาจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรังแต่ทั้งนี้หากปล่อยไว้ อาการของโรคจะต่อเนื่องจนถึงเรื้อรังในที่สุด

  * Chronic  Insomnia  นับเป็นการนอนไม่หลับแบบเรื้อรัง จะทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากปัญหานี้มากกว่า 3 สัปดาห์ จะนอนหลับเยี่ยงปกติชนได้ก็ต่อเมื่อร่างกายได้ยาช่วยนอนหลับ  เข้าไปแล้วเท่านั้น สมควรอย่างยิ่งที่ต้องพบและปรึกษาแพทย์  เพราะอาการนอนไม่หลับแบบเรื้อรังจะเป็นพื้นฐานในการสร้างปัญหาอื่นตามมา

สาเหตุของโรคนอนไม่หลับ

  * การนอนไม่หลับโดยปราศจากสาเหตุที่ชัดเจน  ทางการแพทย์เรียกว่า  การนอนไม่หลับเบื้องต้น  ซึ่งบางครั้งนั้นเราอาจจะไม่ทันสังเกตเลยว่า ปัญหาโรคนอนไม่หลับกำลังคุกคามเข้ามาอย่างช้าๆ อย่างไรก็ตาม หากคุณคิดว่าตัวเองเริ่มได้รับสัญญาณนอนไม่หลับ ควรไปหาแพทย์เพื่อวินิจฉัย

 * โรคนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากความผิดปกติของสารเคมีในร่างกายหรือความเจ็บป่วยบางชนิด เช่น  โรคหัวใจ  การไอเรื้อรัง  ไทรอยด์  ติดยา  ปัญหาต่อมลูกหมาก ฯลฯ

 *  สภาวะทางจิต  พบมากในผู้ป่วยที่มีอาการของโรคซึมเศร้า เครียด กังวล มักเป็นโรคนอนไม่หลับ  เมื่อนอนไม่หลับก็จะยิ่งทำให้จิตใจหดหู่และซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น  ทั้ง 2 โรคนับเป็นสิ่งที่ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก

 * โรคนอนไม่หลับอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก  ไม่ว่าจะเป็นอาศัยอยู่ท่ามกลางถิ่นที่มีเสียงรบกวนตลอดเวลา  อุณหภูมิในห้องสูงเกินไป  หรือเตียงนอนที่นอนไม่สบาย  ล้วนแต่เป็นอุปสรรคต่อการนอนทั้งสิ้น  หรือบางครั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางตัวเพื่อรักษาโรคก็ส่งผลให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้เช่นกัน

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเรากำลังเป็นโรคนอนไม่หลับ ใช่หรือไม่??


 * ตื่นขึ้นมาตอนเช้าด้วยอาการอ่อนเพลีย
 * รู้สึกง่วงเหงาหาวนอนในระหว่างวัน//งีบระหว่างวัน
 * รู้สึกว่าเป็นการยากมากที่จะตั้งสมาธิเพื่อให้จดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในขณะนั้น
 * มีปัญหาเรื่องหลงๆลืมๆ บ่อยครั้ง
 * ฉุนเฉียวง่าย


**เพียงแค่เรามีอาการ1ในนี้ก็พึงระวังได้เลย เรากำลังมีปัญหากับเจ้าโรคนี้เเล้วละคะ


ปัจจัยที่ส่งผลให้สถานการณ์นอนไม่หลับรุนแรงขึ้น

1.   แอลกอฮอล์
2.   บุหรี่
3.   การบริโภคโสมสกัดเพื่อสุขภาพ
4.   เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
5.   ความวิตกกังวล
6.   ความอ่อนล้าจากการออกกำลังกายมากเกินไป
7.   รับประทานอาหารหนักก่อนนอน


มาเรียนรู้ วิธีที่จะทำให้เราหลับสบายกันเถอะ


- พยายามเข้านอนในเวลาเดียวกันทุกคืน เเละตื่นในเวลาเดียวกันทุกเช้า
- หากง่วงช่วงเวลากลางวัน ให้หลีกเลี่ยงการงีบพักหลับในช่วงเวลานั้น
- ไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- ปล่อยวาง คลายเครียด ฟังเพลงอ่านหนังสือ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- บำบัดด้วยสมุนไพร ธรรมชาติบำบัด
- บำบัดด้วยเสียงเพลง
- บำบัดด้วยการกดจุดฝังเข็ม


***บางครั้งคนส่วนใหญ่พอนอนไม่หลัีบจะหันไปพึ่งยา นอนหลับ เสียส่วนใหญ่ ถ้าถามว่าใช้ได้มั้ย อันตรายรึเปล่า สามารถใช้ได้แต่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะยาทุกชนิดล้วนมีประโยชน์และโทษไปพร้อมๆกันนะค๊าา







Sunday 27 May 2012

ตับ...ตับ...ตับตับ!!

          อย่าเพิ่งคิดไปไกล ว่าหัวข้อ ตับ ตับ ตับตับนี่ คืออะไรแบบนั้นนน แท้จริงแล้ววันนี้เจ้าของบทความต้องการนำเสนอเรื่อง"ภาวะตับแข็ง"ให้เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆกันไป เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะ เยาวชน วัยรุ่น นักศึกษา คนทำงาน วัยเกษียณ ผู้สูงอายุ ล้วนแต่ดื่มแอลกอฮอล์กันทั้งสิ้น ซึ่งไอ่ที่ดื่มๆกันไปก็ทำลายตับของเราเองทั้งนั้น เป็นไปได้ไม่อยากว่า อนาคตในภายภาคหน้าอาจจะเป็นโรคตับแข็งก็เป็นได้ แต่...ถึงอย่างไรนั้น ตับแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบทความนี้ เจ้าของบทความขอกล่าวอย่างง่ายๆในภาคประชาชน เพื่อจะได้เข้าใจเอาไว้จำ ตักเตือน หรือเป็นความรู้ติดตัวกันเน๊อะ ^0^


        ก่อนอื่นเราต้องมาทราบก่อนว่า ตับ คืออะไร ทำหน้าที่อะไร??? 
 ตับ เป็นอวัยวะอย่างหนึ่งที่อยู่ภายในช่องท้อง มีความใหญ่เป็นอันดับสองของร่างกาย รองมาจากผิวหนังแต่เป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ตับมีหน้าที่หลักๆคือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแมแทบอลิซึ่ม สะสมไกลโครเจน สังเคราะห์โปรตีนในพลาสม่า กำจัดพิษของยา เป็นต้น






ตับแข็ง // Cirrhosis
เป็นภาวะซึ่งเป็นผลจากโรคตับเรื้อรัง มีลักษณะเฉพาะคือการมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ดึงรั้งเนื้อตับที่ดีจนเป็นผิวตะปุ่มตะป่ำ ทำให้ตับเสียการทำงานลงไป ตับแข็งมักเกิดขึ้นเป็นผลจากพิษสุราเรื้อรัง ตับอักเสบจากไวรัส (โดยเฉพาะจากไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี)
คนเป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ ต่อมาจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นบางครั้งน้ำหนักลด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย เนื้อตัวและนัยน์ตาเหลือง เนื่องจากตับไม่สามารถขับน้ำดี จึงมีการสะสมน้ำดีตาม ผิวหนังจนมีสีออกเหลืองๆ และยังทำให้มีอาการคันตามตัวได้ ความรู้สึกทางเพศลดลง ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง

          เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังดื่มเหล้าจัด จะมีอาการท้องมาน เท้าบวม เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความดันน้ำในหลอดเลือดได้เพียงพอ พังผืดที่ดึงรั้งในตับก็จะมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ มีแรงดันในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดการแตกแขนงเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งจะเปราะบาง และแตกได้ง่าย เห็นเป็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง เกิดหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารและขา ซึ่งอาจจะแตก ทำให้อาเจียนเป็นเลือดสดๆ ทำให้เสียเลือดมาก อาจจะช็อกถึงตายได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้ที่เรียกว่าตับวาย ก็จะเกิดอาการทาง สมอง ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้ตัว (Hepatic encephalopathy) จนหมดสติได้

โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน ๕-๑๐ ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ ๒-๕ ปี 

การดูแลและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง


เมื่อเกิดตับแข็งแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียารักษาแก้ไขภาวะพังผืดทิ่เกิดจากแผลเป็นในตับให้กลับมาเป็นปกติได้ นอกจากดูแลไม่ให้ตับมีการอักเสบหรือถูกทำลายมากขึ้น ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง คือ
 *  กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบ เช่น งดดื่มสุรา รักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บีและซี ในรายที่เป็นโรควิลสันให้ยากินขจัดทองแดงส่วนเกิน
 *  ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ
 รับประทานอาหารครบส่วน รวมทั้งอาหารประเภทโปรตีนอย่างน้อยในปริมาณ 1-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันในรายที่ขาดอาหารต้องเพิ่มโปรตีนสูงถึง 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ยกเว้นในรายที่เกิดอาการทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษไม่ได้ ในระยะนี้จำเป็นต้องลดการกินอาหารโปรตีนตามคำแนะนำของแพทย์
 * การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่าย และตับที่มีผู้บริจาคมีจำนวนน้อยและผู้ป่วยเปลี่ยนตับยังจำเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดหลังผ่าตัดเปลี่ยนตับ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ผลดี มีอัตรารอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 ภายในเวลา 5 ปี




       

Thursday 24 May 2012

อะไรเอ่ย..มาทุกเดือน //ประจำเดือนกับผู้หญิง

          ความรู้เล็กๆน้อยๆในวันนี้ไม่ไกลจากตัวของเจ้าของบทความหรือคุณผู้หญิงทั้งหลายเลยคะ  
เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า อ่า!! ผู้หญิงคนนี้ได้โตเป็นสาวแล้วววววนะคะ
นั่นคือ การมีประจำเดือน นั่นเอง
          ชื่อมันก็บ่งบอกอยู่ว่า ประจำเดือนนะ ก็แสดงว่า มันก็ต้องมาทุกเดือนนั่นเอง บางคนทราบแค่ว่า
อ่า...ไข่ตกจากฮอร์โมนนู่นนี่นั่นสูง แล้วรอแล้วรอเล่าเจ้าอสุจิตัวดีก็ไม่มาหาสักที เลยน้อยใจ สลายตัว
เลยดีกว่า >*< ออกมาเป็นเลือดประจำเดือนนั่นเอง  ผู้เขียนจำได้ว่า สมัยเรียนพยาบาลนั้น ท่องจน
จำขึ้นใจ เลยอยากเอาความรู้ของการเกิดประจำเดือนมาฝากให้สาวๆได้ทราบกัน อิอิ
เริ่มแรก --- ขบวนการของการเริ่มเกิดประจำเดือน
     เริ่มจากที่ต่อมใต้สมองส่วนหน้า
.
.
.
.
V
     หลั่ง ฮอร์โมน เอฟ เอส เอช (FSH)
.
.
.
.
v
ฮอร์โมนนี้จะกระตุ้นให้ไข่ที่อยู่ในรังไข่เจริญเติบโตและปกติจะออกมาเพียงเดือนละ 1 ฟองเท่านั้นสลับข้างกันไป

การตกไข่ (Ovulation)
ขบวนการของการตกไข่ (Maturation of the Ovum) 
ได้รับการกระตุ้นโดยฮอร์โมน FSH ร่วมกับฮอร์โมน แอล เอช (LH)
.
.
.
V
ไข่จะเจริญเติบโตเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 14 วัน โดยจะมีไข่เพียง 1 ใบ เท่านั้นที่เจริญเต็มที่ ที่เหลือจะไม่เจริญและสลายไป
   
          รังไข่


              และในเวลาเดียวกัน เยื่อบุโพรงมดลูกของเรานั้นจะทำการสร้างผนังเยื่อบุมดลุกเพิ่มมากขึ้น
ซึ่งจะหนาขึ้นจากเดิม 2 มิลลิเมตร เป็น 6 มิลลิเมตร  
              ประมาณวันที่ 14 ผนังของต่อมไข่ (Follicle) จะแตกออก  ไข่จะหลุดออกมา มีขนาดเล็ก
(มีขนาด 0.02 มิลลิเมตร)
             ต่อมาต่อมไข่ก็จะกลายเป็นต่อมสีเหลือง เรียกว่า คอร์ปัสลูเตียม (Corpus luteum) ซึ่งจะทำการสร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และเอสโตรเจน (Oestrogen)ออกมานั่นเอง


*  โปรเจสเตอโรน จะทำหน้าที่ช่วยเสริมให้เยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrium) เพิ่มความชุ่มชื่น มีอาหารเตรียมพร้อมเพื่อการฝังตัวของไข่ที่ถูกผสม
*  ฮอร์โมน เอช ซี จี (Human chorionic gonadotrophin,HCG) จาก รก ช่วยให้ต่อมคอร์ปัสลูเตียม คงอยู่ ระหว่างการตั้งครรภ์ระยะแรก  
การเปลี่ยนแปลงของรังไข่หลังจากการตกไข่
.
.
 ถ้าไม่เกิดการปฏิสนธิหลังจากการตกไข่แล้ว 8 วัน
.
.
คอร์ปัสลูเตียม จะเริ่มสลายไป
.
.
v
 แล้วเยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกหลุดออกมา
   เรียกว่า เลือดประจำเดือน
โดยไหลอย่างช้าๆ ออกมาจากมดลูก ใช้เวลา 3-5 วัน
หลังจากเลือดประจำเดือนหยุด เยื่อบุโพรงมดลูกจะเริ่มสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง



       การเกิดประจำเดือน






Wednesday 23 May 2012

ระดับไขมันในเลือด...สำคัญอย่างไร

ระดับไขมันในเลือด
           
            ไขมันในเลือดคืออะไร?? ใช่เหมือนมันหมูที่เราเห็นตามแผงขายหมูรึเปล่านะ เอ๊ะ หรือ ไขมันในเลือดคือน้ำมันที่เรากินๆเข้าไปแล้วมันไปรวมอยู่ในเลือด(หรอออ) จริงๆแล้ว ไขมันในเลือดคือ ไขมันที่เรารับประทานลงไปจากอาหารทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นไขมันจาก ไก่ทอด เบอเกอร์รี่  อาหารปิ้งๆ ย่างๆ ทั้งหลายเหล่านี้ โดนเอนไซม์ย่อยจนมาอยู่ในรูปของ โคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ เป็นต้น
                ระดับไขมันในเลือด มีความสำคัญอย่างไร??
ปัจจุบันประชากรของเมืองไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดอุดตันเพิ่มมากขึ้นๆ ไม่มีใครที่จะปฏิเสธโรคที่จะคุกคามมาหาเราได้ ดังนั้นเราควรที่จะรู้จักประเมินตนเองเสียแต่เนิ่นๆ เพื่อที่จะพึงระวัง ป้องกันโรคต่างๆไว้ก่อน ระดับไขมันในเลือดนั้นสามารถพิจารณาได้ดังนี้
                1.เมื่อร่างกายเรามี ระดับโคเลสเตอรอลรวม (Total cholesterol,TC)  สูงในเลือด
                2.เมื่อร่างกายเรามี ระดับ Low density lipoprotein-cholesteral (LDL-C) สูงในเลือด
                3.เมื่อร่างกายเรามี ระดับ High density lipoprotein-cholesteral (LDL-C) ต่ำในเลือด
            4.เมื่อร่างกายเรามี ระดับ ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride,TG) สูงในเลือด
                5.เมื่อร่างกายเรามี ระดับไขมันผิดปกติแบบใดแบบหนึ่งร่วมกัน 2 ชนิดขึ้นไป

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีภาวะระดับไขมันในเลือดที่ผิดปกติ เพราะไม่ว่าคนอ้วน หรือคนผอมแล้วนั้น ต่างก็มีระดับไขมันในเลือดผิดปกติได้เท่าๆกัน บางคนที่เราเห็นเดินตามท้องถนนที่มีลักษณะตัวเล็กๆ แห้งๆ เดินโดนลมพัดมาทีอาจจะปลิวไปกะสายลมได้ แท้จริงแล้วอาจจะมีระดับไขมันในเลือดสูงกว่า คนที่ดูจากขาแล้วสามารถตัดสินได้เลยว่า รากฐานมั่นคงแน่นอน(เนื่องจาก สะโพก ขา ช่างใหญ่แลดูมั่นคงมาก)
เราจะทราบระดับไขมันในเลือดได้โดย การเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำ ส่งตรวจ ซึ่ง ทางโรงพยาบาลจะเจาะเลือดเราไปตรวจเพียงแค่ 3 ซีซี เท่านั้น คราวนี้เรามาดูเกณฑ์ที่ใช้ตัดสินระดับไขมันผิดปกติในเลือดกันดีกว่า
               
TC                        <200mg/dl
LDL cholesterol   < 100 mg/dl
HDL cholesterol   40mg/dl
TG                        <150mg/dl

            ประชากรกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจระดับไขมันในเลือด
ในความเป็นจริงแล้วการตรวจหาระดับไขมันในเลือดนั้นสามารถหาได้ในทุกเพศและทุกวัย แต่ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงคือใครบ้าง? ตัวเราเสี่ยงมั้ย? พ่อแม่?ญาติพี่น้องเราล่ะ มีความเสี่ยงรึเปล่านะ
 ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสุง เป็นกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจประเมินระดับไขมันในเลือด ได้แก่
-          ผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง
-          ผู้ชายที่มีอายุ > 45 ปี และ ผู้หญิงที่มีอายุ > 55ปี
-          ผู้ที่มีประวัติครอบครัว พ่อแม่พี่น้องเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยผู้ชายเป็นเมื่ออายุ<55ปี และผู้หญิงเป็นเมื่ออายุ<65ปี
-          ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
-          ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
-          บุคคลที่สูบบุหรี่
-          ผู้ป่วยโรคอ้วน/มีภาวะน้ำหนักเกิน (BMI > 25 Kg/m*2)
-          บุคคลที่หย่อนสมรรถภาพทางเพศในผู้ชาย
-          ผู้ป่วยโรคไต

การตรวจระดับไขมันในเลือด
เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไรบ้าง เมื่อต้องมาเจาะเลือดตรวจ?
การเตรียมตัวก่อนเจาะเลือด
-          งด อาหารประมาณ 9-12 ชั่วโมง โดย ให้ดื่มน้ำเปล่าได้
-          รับประทานอาหารที่รับประทานอยู่ประจำ เป็นระยะ 3 สัปดาห์ก่อนการเจาะเลือด
-          ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยหนัก ควรตรวจเมื่อพ้นจากภาวะดังกล่าวไปแล้ว 12 สัปดาห์
-          ผู้ป่วยที่มีการตายของกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน ควรเจาะเลือดตรวจภายใน 12 ชั่วโมงแรก หรือ6สัปดาห์หลัง เพื่อให้ได้ค่าจริงมากที่สุด
-          ผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ควรตรวจระดับไขมันในเลือดทันที(ภายใน 48 ชั่วโมงแรก)
 เราลองหันไปพิจารณาดูสิว่า คนใกล้ตัวที่เรารักกำลังอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่  เพื่อที่พวกเขาเหล่านั้นจะได้รับการประเมินถึงภาวะเสี่ยงเสียตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการคัดกรองที่ถูกต้อง ปลอดภัยจากโรคร้ายทั้งหลายที่จะมาคุกคามชีวิตของพวกเขานั่นเอง


               




Tuesday 22 May 2012

ก่อน7 หลัง7

ก่อน7...และ...หลัง7
       การคุมกำเนิดในมนุษย์เรามีหลายรุปแบบ ไม่ว่าจะทำหมันถาวร ทำหมันชั่วคราว การรับประทานยาคุมกำเนิด การใส่ถุงยางอนามัย และแม้กระทั่งการนับวันปลอดภัย ในบทความนี้เราจะนำเสนอความรู้ทางการแพทย์เกี่ยวกับการนับวัน ก่อน7 หลัง7 รับรองปลอดภัย
                ก่อนอื่นเราต้องทราบก่อนว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธ์นั้น คือผู้หญิงที่มีประจำเดือนและไข่ตกเกิดขึ้นแล้วนั่นเอง และผู้หญิงวัยเจริญพันธ์นี้ก็สามารถที่จะมีลุกได้หากมีการปฏิสนธิกันเกิดขึ้น
บางคนอยากคุมกำเนิดแต่ไม่กล้าไปซื้ออุปกรณ์มาป้องกัน ทำไงดี?? จะซื้อที พนักงานขายตัวดี ก็มองหน้า (เหมือนคนซื้อจะไปฆ่าใครตายซะงั้น) ทั้งๆที่ทำตามที่เขารณรงค์ ยืดอก พกถุง ยืดดดดอกและพกถุง(ถุงก๊อบแก๊บเอาไปคลุมหัวตอนซื้อ ถุงยางอนามัยนี่แหละจ้า) ดังนั้นวิธีที่ไม่ต้องไปให้ใครรับรุ้ว่าฉันกำลังจะคุมกำเนิดนะ คือ การนับก่อน7และหลัง7วันเมื่อมีประจำเดือน
แล้วนับไงอ่ะ??
ก่อน7 หมายถึง  7วัน ก่อนที่ รอบเดือนจะมา

หลัง7 หมายถึง  7วันนับจากวันแรกที่รอบเดือนมา

ยกตัวอย่างว่า        สมมติว่ารอบเดือนของเรามาวันที่ 8-9-10-11-12
                   7วันแรกที่ปลอดภัยคือ วันที่ 1-2-3-4-5-6-7
                                7วันหลังที่ปลอดภัยคือ  วันที่ 8-9-10-11-12-13-14
ในกรณีที่เราจะทราบ7วันหน้าได้อย่างแน่นอนก็คือ เราต้องทราบว่ารอบเดือนแต่ละเดือนของเราที่แน่นอนมีกี่วัน เช่น รอบเดือนมาทุก28วัน หรือ ทุก30วัน เราจึงจะทราบวันที่แน่นอนและสามารถนับได้อย่างไม่พลาด
ส่วนในกรณี7วันหลัง ถ้าไม่มีการร่วมเพศในวันที่มีรอบเดือน ก็แปลว่าจะมีวันที่มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยแค่ไม่กี่วัน ถ้ามีรอบเดือน 3 วัน ก็มีวันปลอดภัยเหลือ 4วัน ถ้ารอบเดือนมา 5 วันก็จะมีวันปลอดภัยเหลือ 2 วันนั่นเอง

ตัวอย่างเช่น
  นางสาวก. มีประจำเดือนมาล่าสุดวันที่25 เม.ย. และมีรอบเดือนทุกๆ30วันและมาเดือนละ3วัน   ดังนั้นรอบเดือนถัดไปหรือวันไข่ตกคือวันที่ 24 พ.ค.นั่นเอง
และวันปลอดภัย 7วันแรกคือ วันที่  17-18-19-20-21-22-23 พ.ค.
และวันปลอดภัย7วันหลังคือ วันที่  24-25-26-27-28-29-30 พ.ค.
(ช่วง7วันหลังของนางสาวก.จะเหลือ4วันคือวันที่ 27-28-29-30พ.ค.นั่นเอง เนื่องจาก นางสาวกมีรอบเดือนมาเดือนละ3วัน วันปลอดภัยช่วงหลังจึงเหลือเพียง4วัน)
คราวนี้ระยะอันตรายสุดๆละ คือวันไหน มันคือวันไข่สุก และรอการปฏิสนธินั่นเอง
ซึ่งวันไข่สุกนั้นใช้ระยะเวลา14วัน หากอสุจิไม่มาผสมสักที ไข่ก็จะตกแล้วเราก็นับวันปลอดภัยได้ต่อ
ในกรณี นางสาว ก. ที่ประจำเดือนจะมาครั้งต่อไปคือวันที่24 พ.ค. ดังนั้นวันไข่สุก เราจะนับถอยหลังมา 14 วัน   ก็จะตรงกับวันที่ 10 พ.ค. ก็คือวันไข่สุก นั่นคือวันไม่ปลอดภัยสุดๆ
 แต่การสุกของไข่ก็ไม่ได้ตรงอย่างนั้นแบบแน่นอนว่าจะสุกก่อน14วัน อาจสุกก่อนหน้านั้นสองวัน หรือหลังนั้นวันสองวันก็ได้ จึงต้องเผื่อไว้อีก 4 วัน คือวันที่ 8-9 11-12 ดังนั้นวันไม่ปลอดภัยจึงมี 5 วัน คือวันที่ 8-9-10-11-12 พ.ค.
แต่ไข่เมื่อสุกแล้วก็มีคุณสมบัติที่จะอยู่ ผสมได้อีก 24 ชั่วโมง ดังนั้นวันไม่ปลอดภัยจึงมีเพิ่มมาอีก 1วัน คือวันที่14 (สมมุติว่ามีเพศสัมพันธ์วันที่ 14ไข่สุกวันที่ 13 ก็ยังท้องได้) ดังนั้นวันไม่ปลอดภัยจึงเพิ่มมาอีก 1 วัน รวมเป็น 6 วันคือ 8-9-10-11-12-13 พ.ค. นั่นเอง
แต่ทราบหรือไม่ว่าเชื้ออสุจิเมื่อเข้ามาในช่องคลอดของผู้หญิงแล้วนั้น มีคุณสมบัติที่จะผสมกับไข่ได้อีก 48 ชั่วโมง ดังนั้นวันไม่ปลอดภัยจึงมีเพิ่มมาอีก 2 วัน คือวันที่ 6-7 (ถ้ามีเพศสัมพันธ์วันที่ 5แล้วเกิดไข่สุกวันที่ 7 ก็ท้องได้ )รวมแล้ววันไม่ปลอดภัยจึงมีเพิ่มมาเป็น 8 วัน คือวันที่ 6-7-8-9-10-11-12-13 พ.ค. นั่นเอง
และในกรณีที่จะใช้การนับระยะปลอดภัยก่อน7และหลัง7 ควรใช้ก็ต่อเมื่อ ผู้หญิงเป็นคนที่มีรอบเดือนมาอย่างสม่ำเสมอในทุกๆเดือนนะจ๊ะ จึงจะปลอดภัยแบบสุดๆ

                                               






Saturday 19 May 2012

วิตามินมีประโยชน์อย่างไร


เรามาเลือกกิน วิตามิน แบบ WIN WIN กันเถอะ





                คงจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ไม่อยากสวยและรวยมากกันหรอก สาวๆหลายคนพยายามหาสารเคมีหลายๆตัวเข้าสุ่ร่างกายกันทั้งนั้น มนุษย์เราย่อมสามารถทำทุกอย่าง ทุกวิถีทางเพื่อให้คงความอ่อนเยาว์และความสมบูรณ์ของอวัยวะในร่างกายเอาไว้ให้มากที่สุด
                ตัวเลือกหลักๆที่ทุกคนหันมาให้ความสนใจมากที่สุดคือ วิตามิน ซึ่งวิตามินนั้นส่วนใหญ่จะอยู่ในพืช ผัก ผลไม้ มีอยู่หลากหลายชนิด แต่ในปัจจุบันนี้ มีนักวิจัย นักวิชาการ ได้ค้นคว้าหา ดัดแปลง วิตามินที่อยู่ในรูป พืช ผัก ผลไม้ กลายมาเป็นอาหารเสริม ที่อยู่ในรุปของ แคปซูล เพื่อตอบสนองในการเลือกบริโภคของแต่ละบุคคลนั่นเอง
                เรามาทำความรู้จักกับ วิตามิน กันเถอะ
หากเรามาแบ่งประเภทของวิตามิน ตามการละลาย จะมีด้วยกันอยู่ 2ประเภทคือ
1.วิตามินที่ละลายในไขมันคือ วิตามินที่ละลายในไขมันหรือน้ำมันเท่านั้น จะคงสภาพเดิมอยู่ได้นานไม่เสียง่าย และร่างกายจะเก็บสะสมไว้ที่ตับ ได้แก่ วิตามิน A,D,E,K
2.วิตามินที่ละลายในน้ำ คือ วิตามินที่ละลายในน้ำได้ง่าย ถูกทำลายได้ง่าย ได้แก่ วิตามินCและวิตามินบีรวม(บี1

          วิตามินเอ  (Vitamin A)  
พบมากในตับ ไข่แดง น้ำนม เนย น้ำมันตับปลา  พืชซึ่งมีสารประกอบพวกแคโรทีน (Carotene) ได้แก่ ผักสีเขียว  สีเหลือง  หรือสีส้ม  เช่น ข้าวโพด มันฝรั่ง มันเทศ มะละกอสุก ฟักทอง ขนุน กล้วยหอม ผักบุ้ง คะน้า
มะเขือเทศ ฯลฯ
ใช้บรรเทาโรค :   สิว หอบหืด หลอดลมอักเสบ หวัด ผิวหนัง เอ็กซีม่า ผิวหนังอักเสบ เครียด เหงือกอักเสบ ตาแห้ง การติดเชื้อ ทางเดินปัสสาวะ 

          วิตามิน  ดี  (Vitamin D)
วิตามินดีสอง (Vitamin D2) พบมากในน้ำมันตับปลา นม ไข่แดง ยีสต์  เป็นต้น ส่วนวิตามินดีสาม (Vitamin D3) ได้จากปฏิกิริยาระหว่างแสงอุลตร้าไวโอเลต (Ultraviolet)  ในแสงแดดกับสารสเตียรอยด์ที่ผิวหนัง
ใช้บรรเทาโรค : ป้องกันโรคกระดูกอ่อนในเด็กและผู้ใหญ่ ช่วยในการดูดซึมของแคลเซียม และฟอสฟอรัส 

           วิตามินอี  (Vitamin E) 
 พบในน้ำมันพืช โดยเฉพาะในน้ำมันเมล็ดดอกคำฝอย  และน้ำมันถั่วเหลือง  ไข่ปลา เนื้อ  ตับ ข้าวกล้อง
ใช้บรรเทาโรค : ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ป้องกันการแข็งตัวของเลือด

            วิตามินเค  (Vitamin K or Coagulation Vitamin)
 พบมากในผักใบเขียว มะเขือเทศ ดอกกะหล่ำ ไข่แดง น้ำมันถั่ว ตับ เนื้อหมู
 ใช้บรรเทาโรค :   ทำหน้าที่ควบคุมการสังเคราะห์โปรตีนที่ทำหน้าที่ควบคุมการแข็งตัวของเลือด

          วิตามินซี  (Vitamin C  or Ascobic acid) 
พบมากในผัก และผลไม้สด เช่น มะนาว ส้ม มะเขือเทศ มะขามป้อม ผักใบเหลือง และผัดสดทั่วไป  ฯลฯ อาหารที่มีต้นตอจากสัตว์มี  วิตามินซีน้อย  ที่จัดว่าดีมีในอาหารประเภทเนื้อสัตว์  ได้แก่  ตับและไข่ปลา
บรรเทาโรค : จำเป็นสำหรับปฏิกิริยาเกี่ยวกับการใช้ออกซิเจนในร่างกาย ช่วยในการต้านทานโรค เกี่ยวข้องกับขบวนการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต และยังมีหน้าที่สำคัญเกี่ยวกับการสร้างสารที่ยึดเซลล์ในเนื้อเยื่อเดียวกัน  ที่สำคัญได้แก่ เนื้อเยื่อหลอดเลือดฝอย กระดูก ฟัน และพังผืด ทำให้ผนังเส้นเลือดฝอยแข็งแรงขึ้น
    
วิตามินบีหนึ่ง (Thiamine Hydrochloride) 
พบมากในเนื้อหมู ถั่วเมล็ดแห้ง เครื่องในสัตว์ เห็ดฟาง ข้าวอนามัย (ข้าวแดง) ข้าวซ้อมมือ หรือข้าวที่ขัดสีแต่น้อย
บรรเทาโรค :  ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาการเปลี่ยนแปลงคาร์โบไฮเดรตในร่างกาย จำเป็นสำหรับการเผาผลาญอาหาร บำรุงหัวใจ และระบบประสาท กับช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร จึงทำให้มีความอยากอาหารและป้องกันท้องผูก 
  
          วิตามินบีสอง (Riboflavin) 
พบมากในผักใบเขียว ตับ หัวใจ นม ไข่ เนย ข้าวอนามัย ข้าวกระยาทิพย์ ผลไม้เปลือกแข็ง
บรรเทาโรค : มีหน้าที่สำคัญในกระบวนการเผาผลาญอาหาร ทำให้เกิดพลังงานภายในร่างกาย ช่วยบำรุงผิวหนัง และนัยน์ตา 


          วิตามินบีหก  (Pyridoxine) 
พบมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์  ถั่ว  กล้วย  และผักใบเขียว
บรรเทาโรค :   มีหน้าที่สำคัญเกี่ยวข้องกับการเผาผลาญโปรตีนภายในร่างกาย  ถ้าได้รับวิตามินบีหกไม่พอ   จะทำให้เกิดอาการขาดเลือดและซีดได้ 

          ไนอาซิน (Niacin) 
พบมากใน  เครื่องในสัตว์และเนื้อสัตว์   ร่างกายสามารถสร้างไนอาซินได้ด้วยจากกรดอะมิโนทริปโตเฟน 
บรรเทาโรค : มีหน้าที่เกี่ยวกับปฏิกิริยาการเผาผลาญของสารอาหารเพื่อให้เกิด พลังงาน  การหายใจของเนื้อเยื่อและการสร้างไขมันในร่างกาย

          ไบโอติน  (Biotin)
 
อาหารที่ให้วิตามินนี้มีอยู่หลายชนิด  เช่น  ตับ  ไต  ถั่ว  ดอกกะหล่ำ  เป็นต้น 

บรรเทาโรค ;    มีบทบาทสำคัญในปฏิกิริยาของกรดไขมันและกรดอะมิโน  

          กรดโฟลิค  (Folic  acid) 
อาหารที่มีโฟลาซินมากคือ  ผักใบเขียวสด  ส้ม  ตับ  ไต 

บรรเทาโรค :  มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิกและโปรตีน  การขาดวิตามินนี้จะทำให้เกิดอาการซีดชนิดเม็ดเลือดแดงโต 

            วิตามินบีสิบสอง (Cobalamine)   

พบมากในพวกอาหารจากสัตว์  เช่น ตับ  ไต  น้ำปลา  และปลาร้าด้วย
บรรเทาโรค : มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของเซลล์ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไขกระดูก ระบบ ประสาท และทางเดินอาหาร มีส่วนสัมพันธ์กับหน้าที่บางอย่างของโฟลาซิน  


                จากบทความข้างต้นนี้ พอได้ความรู้อย่างคร่าวๆ หวังว่าสาวๆคงเลือกรับประทานอาหารหรืออาหารเสริมต่างๆให้เหมาะกับร่างกายของเราเองนะคะ