Sunday 27 May 2012

ตับ...ตับ...ตับตับ!!

          อย่าเพิ่งคิดไปไกล ว่าหัวข้อ ตับ ตับ ตับตับนี่ คืออะไรแบบนั้นนน แท้จริงแล้ววันนี้เจ้าของบทความต้องการนำเสนอเรื่อง"ภาวะตับแข็ง"ให้เป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆกันไป เพราะทุกวันนี้ไม่ว่าจะ เยาวชน วัยรุ่น นักศึกษา คนทำงาน วัยเกษียณ ผู้สูงอายุ ล้วนแต่ดื่มแอลกอฮอล์กันทั้งสิ้น ซึ่งไอ่ที่ดื่มๆกันไปก็ทำลายตับของเราเองทั้งนั้น เป็นไปได้ไม่อยากว่า อนาคตในภายภาคหน้าอาจจะเป็นโรคตับแข็งก็เป็นได้ แต่...ถึงอย่างไรนั้น ตับแข็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบทความนี้ เจ้าของบทความขอกล่าวอย่างง่ายๆในภาคประชาชน เพื่อจะได้เข้าใจเอาไว้จำ ตักเตือน หรือเป็นความรู้ติดตัวกันเน๊อะ ^0^


        ก่อนอื่นเราต้องมาทราบก่อนว่า ตับ คืออะไร ทำหน้าที่อะไร??? 
 ตับ เป็นอวัยวะอย่างหนึ่งที่อยู่ภายในช่องท้อง มีความใหญ่เป็นอันดับสองของร่างกาย รองมาจากผิวหนังแต่เป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดของร่างกาย ตับมีหน้าที่หลักๆคือ มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแมแทบอลิซึ่ม สะสมไกลโครเจน สังเคราะห์โปรตีนในพลาสม่า กำจัดพิษของยา เป็นต้น






ตับแข็ง // Cirrhosis
เป็นภาวะซึ่งเป็นผลจากโรคตับเรื้อรัง มีลักษณะเฉพาะคือการมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ดึงรั้งเนื้อตับที่ดีจนเป็นผิวตะปุ่มตะป่ำ ทำให้ตับเสียการทำงานลงไป ตับแข็งมักเกิดขึ้นเป็นผลจากพิษสุราเรื้อรัง ตับอักเสบจากไวรัส (โดยเฉพาะจากไวรัสตับอักเสบบีและไวรัสตับอักเสบซี)
คนเป็นโรคตับแข็งในระยะเริ่มแรกมักไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ ต่อมาจะเริ่มรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เป็นบางครั้งน้ำหนักลด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย เนื้อตัวและนัยน์ตาเหลือง เนื่องจากตับไม่สามารถขับน้ำดี จึงมีการสะสมน้ำดีตาม ผิวหนังจนมีสีออกเหลืองๆ และยังทำให้มีอาการคันตามตัวได้ ความรู้สึกทางเพศลดลง ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง

          เมื่อเป็นโรคตับแข็งอยู่หลายปีหรือยังดื่มเหล้าจัด จะมีอาการท้องมาน เท้าบวม เนื่องจากตับไม่สามารถสร้างโปรตีนอัลบูมิน (albumin) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความดันน้ำในหลอดเลือดได้เพียงพอ พังผืดที่ดึงรั้งในตับก็จะมากขึ้น ทำให้การไหลเวียนของเลือดผิดปกติ มีแรงดันในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดการแตกแขนงเป็นเส้นเล็กๆ ซึ่งจะเปราะบาง และแตกได้ง่าย เห็นเป็นหลอดเลือดพองที่หน้าท้อง เกิดหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารและขา ซึ่งอาจจะแตก ทำให้อาเจียนเป็นเลือดสดๆ ทำให้เสียเลือดมาก อาจจะช็อกถึงตายได้ ในระยะสุดท้ายเมื่อตับทำงานไม่ได้ที่เรียกว่าตับวาย ก็จะเกิดอาการทาง สมอง ซึม เพ้อ ไม่ค่อยรู้ตัว (Hepatic encephalopathy) จนหมดสติได้

โรคตับแข็งนี้ไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพราะเซลล์ตับที่ถูกทำลายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ แต่สามารถชะลอหรือหยุดการทำลายตับได้ ถ้าเป็นตับแข็งระยะเริ่มแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ซึ่งจะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน ๕-๑๐ ปีขึ้นไป แต่ถ้าปล่อยให้มีภาวะแทรกซ้อนชัดเจน เช่น ดีซ่าน ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็จะมีชีวิตสั้น อาจอยู่ได้ ๒-๕ ปี 

การดูแลและรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคตับแข็ง


เมื่อเกิดตับแข็งแล้ว ขณะนี้ยังไม่มียารักษาแก้ไขภาวะพังผืดทิ่เกิดจากแผลเป็นในตับให้กลับมาเป็นปกติได้ นอกจากดูแลไม่ให้ตับมีการอักเสบหรือถูกทำลายมากขึ้น ดังนั้น การดูแลผู้ป่วยโรคตับแข็ง คือ
 *  กำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดตับอักเสบ เช่น งดดื่มสุรา รักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัสตับอักเสบ บีและซี ในรายที่เป็นโรควิลสันให้ยากินขจัดทองแดงส่วนเกิน
 *  ควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ
 รับประทานอาหารครบส่วน รวมทั้งอาหารประเภทโปรตีนอย่างน้อยในปริมาณ 1-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวันในรายที่ขาดอาหารต้องเพิ่มโปรตีนสูงถึง 1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ยกเว้นในรายที่เกิดอาการทางสมอง เนื่องจากตับขจัดสารพิษไม่ได้ ในระยะนี้จำเป็นต้องลดการกินอาหารโปรตีนตามคำแนะนำของแพทย์
 * การผ่าตัดเปลี่ยนตับ เป็นการรักษาที่ดีที่สุด แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่าย และตับที่มีผู้บริจาคมีจำนวนน้อยและผู้ป่วยเปลี่ยนตับยังจำเป็นต้องกินยากดภูมิคุ้มกันไปตลอดหลังผ่าตัดเปลี่ยนตับ ปัจจุบันการผ่าตัดเปลี่ยนตับได้ผลดี มีอัตรารอดชีวิตมากกว่าร้อยละ 80 ภายในเวลา 5 ปี




       

No comments:

Post a Comment